เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [50. กิงกณิปุปผวรรค] 3. โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน
[17] ข้าพเจ้าเห็นรอยพระบาทของพระศาสดาพระนามว่าติสสะ
ที่พระองค์ทรงประทับไว้
ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตร่าเริงบันเทิงใจ
ได้ทำจิตให้เลื่อมใสในรอยพระบาทนั้น
[18] ข้าพเจ้าเห็นต้นอังกาบซึ่งงอกเลื้อยไปตามพื้นดิน
มีดอกบานสะพรั่ง จึงเด็ดมาพร้อมทั้งยอด
ได้บูชารอยพระบาทอันประเสริฐที่สุด
[19] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[20] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
(ในกำเนิดนั้น ๆ) ข้าพเจ้ามีผิวพรรณดังดอกอังกาบ
มีรัศมีซ่านออกจากกาย
[21] ในกัปที่ 92 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชารอยพระบาท
[22] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[23] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :169 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [50. กิงกณิปุปผวรรค] 4. กิงสุกปุปผิยเถราปทาน
[24] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโกรัณฑปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
โกรัณฑปุปผิยเถราปทานที่ 3 จบ

4. กิงสุกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกิงสุกปุปผิยเถระ
(พระกิงสุกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[25] ข้าพเจ้าเห็นต้นทองกวาวมีดอกบานสะพรั่ง
ประคองอัญชลี ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุด แล้วบูชาในอากาศ
[26] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[27] ในกัปที่ 31 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[28] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :170 }